การขยายผลต้นแบบการจัดการขยะและการสร้างนโยบายสาธารณะด้านการจัดการขยะ ในพื้นที่ตำบลโพนสวรรค์ ตำบลขามเฒ่า และตำบลนาราชควาย จังหวัดนครพนม
Main Article Content
บทคัดย่อ
โครงการขยายผลต้นแบบการจัดการขยะและการสร้างนโยบายสาธารณะด้านการจัดการขยะในพื้นที่ตำบลนาราชควาย ตำบลขามเฒ่า และตำบลโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลความสำเร็จของหมู่บ้านต้นแบบ (หมู่ที่ 11 บ้านนาราชควาย) สู่ชุมชนอีก 10 แห่งในพื้นที่ตำบลนาราชควาย เพื่อให้เห็นภาพความสำเร็จในระดับตำบล (นาราชควายโมเดล) นอกจากนี้ยังได้มีการขยายผลความสำเร็จไปยังตำบลอื่น ๆ อีก จำนวน 2 แห่ง คือ ตำบลขามเฒ่าและตำบลโพนสวรรค์ โดยจะนำรูปแบบการจัดการขยะของหมู่ที่ 11 บ้านนาราช ควาย มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสำเร็จด้านการบริหารจัดการขยะ และเกิดนโยบายสาธารณะจากประชาชนที่แท้จริง
ผลลัพธ์ที่เกิดจากโครงการฯ สามารถสรุปรายละเอียดแยกเป็น 3 ประเด็น คือ (1) ด้านเศรษฐกิจ เกิดรายได้ขึ้นในชุมชนทั้งในรูปของสวัดิการเงินปันผล เงินกู้ฉุกเฉิน และเงินจากการนำขายไปขาย-ฝาก กับธนาคารขยะชุมชน ค่าเฉลี่ยรายได้จากการเปิดธนาคารขยะชุมชนเท่ากับ 10,000 บาทต่อเดือนต่อหมู่บ้าน (2) ด้านสังคม เกิดความสามัคคีขึ้นในชุมชน เพราะการจัดการขยะของชุมชนจะสำเร็จได้ยากหากคนในชุมชนไม่ร่วมมือกันดำเนินงาน กล่าวคือปริมาณขยะลดลงจากการจัดการขยะของทุกคนในพื้นที่ ส่งผลให้มีโอกาสพบปะ พูดคุย หารือ ในเรื่องเดียวกันมากขึ้น และเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ เกิดนักวิจัยในชุมชน เกิดทีมพี่เลี้ยงเพื่อดูแลด้านปัญหาขยะในพื้นที่ และ (3) ด้านสิ่งแวดล้อม ผลลัพธ์จากปริมาณขยะในชุมชนลดลง ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น แก้ไขปัญหาด้านกลิ่นเหม็นเน่าในขยะตกค้าง แก้ปัญหาด้านทัศนอุจจาดจากความสกปรกของขยะล้นถัง หมายขุ้ยเขี่ย แก้ปัญหาด้านน้ำเน่าเสีย แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นต้น
จากแบบสอบถามทัศนคติและความพึงพอใจของผู้ตอบแบบสอบถามในพื้นที่ต้นแบบ ทั้ง 3 แห่ง พบว่า ก่อนการดำเนินโครงการ ตำบลนาราชควาย และตำบลขามเฒ่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการขยะในระดับปานกลาง คือมีค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 3.20 และ 2.97 ตามลำดับ ส่วนตำบลโพนสวรรค์ผู้ตอบแบบสอบถามมีความรู้ความเข้าใจระดับน้อย คือมีค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 2.43 สรุปภาพรวมผู้ตอบแบบสอบถามพื้นที่นาราชควายส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อโครงการฯ ระดับมากคือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.04 และระดับความความพึงพอใจต่อภาพรวมของโครงการมีมากที่สุดคือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.63 และภาพรวมผู้ตอบแบบสอบถาม
พื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านกล้วย ตำบลขามเฒ่า ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อโครงการฯ ระดับมากคือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.18 และระดับความความพึงพอใจต่อภาพรวมของโครงการมีมากที่สุดคือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.80 และภาพรวมผู้ตอบแบบสอบถามพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลโพนสวรรค์ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อโครงการฯ ระดับมากคือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.14 และระดับความความพึงพอใจต่อภาพรวมของโครงการมีมากที่สุดคือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.80 นอกจากนี้ยังเกิดนโยบายสาธารณะด้านการจัดการขยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ต้นแบบทั้ง 3 แห่ง คือตำบลนาราชควาย ตำบลขามเฒ่า และตำบลโพนสวรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ข้อเขียนหรือบทความใดๆ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิจัยและพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Online) ฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นเฉพาะส่วนตัวของผู้เขียนและกองบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย และวารสารวิจัยและพันาอนุภูมิภาค ลุ่มน้ำโขง (Online) ไม่มีข้อผูกพันธ์ประการใดๆ อนึ่งกองบรรณาธิการวารสารยินดีรับพิจารณาบทความจากนักวิชาการ นักศึกษา ตลอดจนผู้อ่าน และผู้สนใจทั่วไป เพื่อนำลงตีพิมพ์ สำหรับบทความจะผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถาบัน
References
กรมควบคุมมลพิษ. แนวทางการบริหารจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนสำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น. สืบค้นเมื่อ 24 กรกฎาคม 2561 จาก http://www.pcd.go.th/info_serv/File/haz20170703_02.pdf
ไพบูลย์ แจ่มพงษ์. (2555). การใช้ประโยชน์และการจัดการขยะมูลฝอยของครัวเรือนประชาชน ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม .มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา.
นัยนา เดชะ. (2557). การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอยของชุมชน ตําบลเลม็ด อําเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร).
พัชญทัฬห์ กิณเรศ. (2560). การศึกษาและพัฒนาการจัดการขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน : กรณีศึกษา ตำบลนาราชควาย จังหวัดนครพนม (รายงานผลการวิจัย). นครพนม : มหาวิทยาลัยนครพนม
พัชญทัฬห์ กิณเรศ. (2560). ผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมธนาคารขยะ. วารสารสิ่งแวดล้อม. 21(1), 25-30.
พัชญทัฬห์ กิณเรศ. (2559). ลดการใช้พลังงานจากกระบวนการกำจัดขยะตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยกิจกรรมธนาคารขยะในชุมชนนาราชควาย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม. มหาวิทยาลัยนครพนม. (รายงานผลการวิจัย). นครพนม : มหาวิทยาลัยนครพนม
วิเชียร จุ่งรุ่งเรือง และคณะ. (2557). สถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2557. กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ (แกไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๕๐) (2535, 29 มีนาคม) ราชกิจจานุเษกษา. เล่มที่ 109 ตอนที่ 338 ก, หน้า 1-33.
สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร. การจัดการขยะของต่างประเทศและในประเทศ. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2561 จาก http://203.155.220.174/modules.php?name=News&file=article&sid=43