คำแนะนำสำหรับผู้เขียน

คำแนะนำสำหรับผู้เขียน

1. นโยบายการตีพิมพ์ในวารสารบริหารธุรกิจราชมงคลสุวรรณภูมิ

           วารสารบริหารธุรกิจราชมงคลสุวรรณภูมิ เป็นวารสารวิชาการที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (ศูนย์ TCI) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าและเพื่อเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการแก่นักวิจัย นักวิชาการ คณาจารย์ นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในศาสตร์ดังนี้

การจัดการองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจ การจัดการอุตสาหกรรม การบริหารเชิงกลยุทธ์ การบริหารทรัพยกรมนุษย์ การบริหารการปฏิบัติการ การตลาด การตลาดดิจิทัล เอกชน ด้านการตลาด การบัญชี การเงินและการลงทุน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจระหว่างประเทศและการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน การจัดการนวัตกรรมบริการ รวมถึงการวิเคราะห์ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

           ทุกบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ ได้ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3  ท่าน เปิดรับบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยรับพิจารณาตีพิมพ์ต้นฉบับของบุคคลทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ผลงานที่ส่งมาจะต้องไม่เคยเสนอหรือกำลังเสนอตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการใดมาก่อน

 

2. รูปแบบของการจัดเตรียมต้นฉบับ

 2.1 บทความวิจัย

สามารถดาวน์โหลด แบบตัวอย่างของบทความวิจัยได้ดังลิ้งค์

ตัวอย่างบทความวิจัยของวารสาร (PDF)

ตัวอย่างบทความวิจัยของวารสาร (DOCX)

          1) ต้นฉบับบทความต้องมีความยาว 8-15 หน้ากระดาษ A 4 (รวมเอกสารอ้างอิง) พิมพ์บนกระดาษหน้าเดียว ใช้ตัวอักษรแบบ TH SarabunPSK เท่านั้น ตั้งค่าหน้ากระดาษโดยเว้นขอบบน ขอบซ้าย 1.38 นิ้ว (3.51 cm.) และขอบขวา ขอบล่าง 1 นิ้ว (2.54 cm.) กำหนดระยะห่างระหว่างบรรทัด เท่ากับ 1 และเว้นบรรทัดระหว่างแต่ละย่อหน้า การนำเสนอตารางต้องนำเสนอตารางที่มีความคมชัดพร้อมระบุหมายเลขกำกับตารางไว้ด้านบน ส่วนการนำเสนอรูปภาพหรือแผนภาพระบุหมายเลขกำกับไว้ด้านล่าง พิมพ์เป็นตัวหนา เช่น ตารางที่ 1 หรือ Table 1 รูปที่ 1 หรือ Figure 1 และแผนภาพที่ 1 รูปภาพหรือแผนภาพที่นำเสนอต้องมีรายละเอียดของข้อมูลครบถ้วนและเข้าใจได้โดยไม่จำเป็นต้องกลับไปอ่านที่เนื้อความอีก ลำดับของรูปภาพทุกรูปให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่อยู่ในต้นฉบับ โดยคำอธิบายต้องกระชับและสอดคล้องกับรูปภาพที่นำเสนอ

          2) ชื่อเรื่องต้องมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษพิมพ์ไว้หน้าแรกตรงกลางหน้ากระดาษ

          3) ชื่อผู้เขียน ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จัดรูปแบบตามแบบของวารสาร พร้อมระบุหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เขียน และ E-mail ที่สามารถติดต่อได้

          4) มีบทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควรอยู่ระหว่าง 250-300 คำ ต่อบทคัดย่อ

          5) กำหนดคำสำคัญ (Keywords) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวน 3-5 คำ

          6) การเรียงหัวข้อ หัวข้อใหญ่สุด ให้พิมพ์ชิดขอบด้านซ้าย หัวข้อย่อยเว้นหัวข้อใหญ่ 3-5 ตัวอักษร พิมพ์ตัวที่ 6 และหัวข้อย่อยขนาดเดียวกันต้องพิมพ์ให้ตรงกัน เมื่อขึ้นหัวข้อใหญ่ควรเว้นระยะพิมพ์เพิ่มอีก 0.5 ช่วงบรรทัด

          7) การใช้ตัวเลขคำย่อ และวงเล็บ ควรใช้ตัวเลขอารบิกทั้งหมด ใช้คำย่อที่เป็นสากลเท่านั้น (ระบุคำเต็มไว้ในครั้งแรก) การวงเล็บภาษาอังกฤษควรใช้ดังนี้ (Student Centred Learning)

          บทความวิจัย ให้เรียงลำดับสาระนี้ ดังนี้

            1) บทคัดย่อ (Abstract) เสนอวัตถุประสงค์ของการวิจัย วิธีการวิจัย และผลการวิจัยโดยสรุปมีความกะทัดรัด สั้น กระชับ และครอบคลุม

            2) บทนำ (Introduction) ระบุความสำคัญของปัญหาการวิจัย

            3) วัตถุประสงค์การวิจัย (Research Objectives) ระบุวัตถุประสงค์การวิจัย

            4) การทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) อธิบายถึงผลการสืบค้นเอกสาร บทความ การวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงให้เห็นถึง “ช่องว่างของความรู้” (knowledge gap) ที่ยังไม่ถูกพิจารณา ซึ่งการวิจัยครั้งนี้สามารถเติมเต็มช่องว่างของความรู้นั้นได้ การทบทวนวรรณกรรมต้องมีการอ้างอิงอย่างครบถ้วน รวมทั้งควรมีการวิเคราะห์และจัดระบบความสัมพันธ์ของวรรณกรรมเหล่านั้นด้วย

            5) กรอบแนวคิดการวิจัย (Conceptual Framework) แสดงถึงแนวคิดสำคัญ หลักการสำคัญ ที่กำหนดขึ้นจากการประมวลมาจากทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอเป็นแผนภาพที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ศึกษา

            6) วิธีดำเนินการวิจัย (Research Methodology) ระบุแบบแผนการวิจัย การได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง และการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล

            7) ผลการวิจัย (Results) เสนอผลที่พบตามวัตถุประสงค์การวิจัยตามลำดับอย่างชัดเจน ควรเสนอในรูปตารางหรือแผนภูมิ

            8) อภิปรายผล (Discussion) เสนอเป็นความเรียง ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของผลการวิจัยกับกรอบแนวคิดและงานวิจัยที่ผ่านมา ไม่ควรอภิปรายเป็นข้อ ๆ ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของตัวแปรที่ศึกษาทั้งหมด

            9) องค์ความรู้ใหม่จากการวิจัย (Body of Knowledge) ระบุข้อค้นพบที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดจากผลการวิจัย

            10) สรุป (Conclusions) สรุปในภาพรวมของบทความ โดยนำเสนอประเด็นสำคัญผลการวิจัย และแสดงผลลัพธ์ว่าผลการวิจัยความสำคัญอย่างไร สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง หรือจะทำให้เกิดอะไรต่อไป

            11) ข้อเสนอแนะ (Suggestion) ระบุข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ และข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

            12) เอกสารอ้างอิง (References) ต้องเป็นรายการที่มีการอ้างอิงไว้ในเนื้อหาของบทความเท่านั้น (ใช้ระบบ APA 6th)

         

2.2 บทความพิเศษ บทความวิชาการ บทความปริทรรศน์ ปกิณกะ บทความวิจารณ์หนังสือ ให้เรียงลำดับสาระ ดังนี้

         

สามารถดาวน์โหลด แบบตัวอย่างของบทความวิชาการได้ดังลิ้งค์

ตัวอย่างบทความวิชาการของวารสาร (PDF)

ตัวอย่างบทความวิชาการของวารสาร (DOCX)

   1) บทคัดย่อ (Abstract) สรุปประเด็นเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ เน้นประเด็นสำคัญของงานที่ต้องการนำเสนอ โดยเขียนให้สั้น กระชับ มีความยาวไม่เกิน 250-300 คำ โดยบทคัดย่ออาจจะประกอบด้วยเนื้อหาสามส่วน คือ เกริ่นนำถึงวัตถุประสงค์ สิ่งที่ทำ (วิธีในการศึกษา) สรุปผลสำคัญที่ได้ ซึ่งอ่านแล้วต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดของงาน

             2) บทนำ (Introduction) เป็นการกล่าวนำโดยอาศัยการปริทรรศน์ (review) และต้องมีการอ้างอิงที่มาของข้อมูลตามรูปแบบที่วารสารกำหนด

             3) เนื้อเรื่อง (Content) แสดงสาระสำคัญที่ต้องการนำเสนอตามลำดับ

             4) สรุป (Conclusion) สรุปโดยเลือกประเด็นสำคัญของบทความมาเขียนรวมกันไว้อย่างสั้น ๆ ซึ่งอาจใช้วิธีการบอกผลลัพธ์ว่าสิ่งที่กล่าวมามีความสำคัญอย่างไร สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง หรือจะทำให้เกิดอะไรต่อไป หรืออาจใช้วิธีการตั้งคำถามหรือให้ประเด็นทิ้งท้ายกระตุ้นให้ผู้อ่านไปสืบเสาะแสวงหาความรู้ หรือคิดค้นพัฒนาเรื่องนั้นต่อไป

             5) องค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับ (Body of Knowledge) ระบุองค์ความรู้อันเป็นผลมาจากประเด็นที่ศึกษา การสังเคราะห์ออกมาในลักษณะ แผนภาพ แผนภูมิ หรือผังมโนทัศน์ พร้อมคำอธิบายรูปแบบ/โครงสร้างอย่างกระชับ เข้าใจง่าย

             6) เอกสารอ้างอิง (Reference) ต้องเป็นรายการที่มีการอ้างอิงไว้ในเนื้อหาของบทความเท่านั้น
(ใช้ระบบ APA 6th) ระบบการอ้างอิงและเอกสารอ้างอิงทางวิชาการ

          เอกสารที่นำมาอ้างอิงควรได้มาจากแหล่งที่มีการตีพิมพ์ชัดเจน อาจเป็นวารสาร หนังสือ หรือข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ผู้เขียนบทความต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องของเอกสารอ้างอิงทั้งหมด ก่อนส่งต้นฉบับผู้เขียนบทความควรตรวจสอบถึงความถูกต้องของการอ้างอิงเอกสาร เพื่อป้องกันความล่าช้าในการตีพิมพ์บทความ เนื่องจากบทความที่มีการอ้างอิงไม่ถูกต้องจะไม่ได้รับการส่งต่อเพื่อพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จนกว่าการอ้างอิงเอกสารได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง

การอ้างอิงในเนื้อหาบทความ

         รูปแบบการอ้างอิงในเนื้อเรื่องและท้ายเล่มใช้วิธีการอ้างอิงระบบนาม–ปี ตามรูปแบบของ American Psychological Association (APA 6th Edition) ให้ใช้ระบบตัวอักษรโดยใช้วงเล็บ  เปิด-ปิด แล้วระบุชื่อ-นามสกุล ของผู้เขียนและเลขหน้าของเอกสารที่นำมาอ้างอิง กำกับท้ายเนื้อความ ที่ใช้อ้างอิง เอกสารที่อ้างอิงในบทความจะต้องปรากฏในเอกสารอ้างอิง บทความทุกรายการและเจ้าของบทความต้องรับผิดชอบถึงความถูกต้องของเอกสารที่นำมาอ้างอิงทั้งหมด

 

3. หลักเกณฑ์การส่งต้นฉบับบทความเพื่อได้รับการตีพิมพ์

         3.1 ส่งผ่านระบบออนไลน์ของวารสารบริหารธุรกิจราชมงคลสุวรรณภูมิ (THAIJO) โดยสมัครสมาชิก และส่งบทความผ่านระบบได้ที่ https://so14.tci-thaijo.org/index.php/JBURUS

         3.2 ส่งด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ เอกสารประกอบด้วย

                1) ต้นฉบับ จำนวน 3 ชุด จำแนกเป็น

                     - ต้นฉบับที่ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง จำนวน 2 ชุด

                     - ต้นฉบับที่ระบุชื่อผู้แต่ง จำนวน 1 ชุด เอกสารต้องระบุรายละเอียด ผู้เขียนบทความ Author (s) ได้แก่ ชื่อ ตำแหน่ง และสังกัด หรือวุฒิการศึกษาสูงสุด อย่างใดอย่างหนึ่งโดยให้มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เฉพาะผู้รับผิดชอบบทความ (Corresponding Author) ให้ระบุที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ E-mail  ที่สามารถติดต่อได้ ในกรณีที่ต้นฉบับดังกล่าวมาจากหรือเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์หรือหลักสูตร การศึกษาโปรดระบุชื่อหลักสูตร สาขา และสถาบันการศึกษาให้ชัดเจน

                2) แผ่นซีดีบรรจุข้อมูลต้นฉบับ จำนวน 1 แผ่น (ระบุชื่อบทความและชื่อผู้เขียน)

                3) แบบเสนอผลงานเพื่อตีพิมพ์ในวารสารบริหารธุรกิจราชมงคลสุวรรณภูมิ

                    - แบบฟอร์มเสนอผลงานเพื่อได้รับการตีพิมพ์ในวารสารบริหารธุรกิจราชมงคลสุวรรณภูมิ

                    - แบบฟอร์มสมัครสมาชิกวารสารบริหารธุรกิจราชมงคลสุวรรณภูมิ

                4) ส่งต้นฉบับบทความเพื่อเสนอตีพิมพ์ในวารสารบริหารธุรกิจราชมงคลสุวรรณภูมิ มายัง

                     กองบรรณาธิการวารสารบริหารธุรกิจราชมงคลสุวรรณภูมิ คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เลขที่ 19 หมู่ 3 ถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000 โทร : 03532-4180 แฟกซ์ : 035-225-2393

         3.3 ส่งทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ แนบไฟล์ต้นฉบับ (File attachment) ในรูปแบบ MS Word และ PDF ส่งมายัง E-mail: jburus2@gmail.com  เมื่อได้รับการยืนยันจากกองบรรณาธิการ พิจารณาให้ตีพิมพ์ลงในวารสารแล้ว ผู้เขียนจะต้องส่งแผนซีดีบรรจุข้อมูลต้นฉบับ จำนวน 1 แผ่น มายังกองบรรณาธิการเพื่อเข้าสู่กระบวนการตีพิมพ์ต่อไป

 

4. ขั้นตอนการนำบทความลงตีพิมพ์ในวารสารบริหารธุรกิจราชมงคลสุวรรณภูมิ

          ต้นฉบับบทความที่เสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารให้อยู่ในรูปแบบของไฟล์เอกสาร *.docx ของ Microsoft Word Version 2010 หรือมากกว่า หากต้นฉบับประกอบด้วยภาพ ตาราง หรือสมการ ให้ส่งแยกจากไฟล์เอกสาร รูปแบบไฟล์ภาพในสกุล *.PDF*.JPG*.GIF หรือ *bmp. ความยาวของต้นฉบับต้องไม่เกิน 15 หน้า (รวมบทคัดย่อ ภาพ ตาราง และเอกสารอ้างอิง) กองบรรณาธิการจะพิจารณาบทความเบื้องต้น เกี่ยวกับความถูกต้องของรูปแบบทั่วไป ถ้าไม่ผ่านการพิจารณาจะส่งกลับไปแก้ไขถ้าผ่านจะเข้าสู่การพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อผลการประเมินผ่านหรือไม่ผ่าน หรือมีการแก้ไข จะแจ้งผลให้ผู้เขียนทราบ โดยการพิจารณาบทความเพื่อลงตีพิมพ์ได้จะคำนึงถึงความหลากหลายและความเหมาะสม