ความต้องการศึกษาต่อหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
คำสำคัญ:
ความต้องการศึกษาต่อ, ระดับบัณฑิตศึกษาบทคัดย่อ
การศึกษาความต้องการศึกษาต่อหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการศึกษาต่อหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และศึกษาความจำเป็นและความสำคัญของหลักสูตร กลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มที่คาดหวังว่ามีความต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ทั้งกลุ่มนิสิตนักศึกษา และบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 426 คน ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจความต้องการ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1. ผู้ตอบแบบสำรวจต้องการศึกษาต่อปริญญาเอก ร้อยละ 78.17 ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีสถานภาพเป็นครู มีอายุระหว่าง 31-40 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท มีประสบการณ์การทำงานระหว่าง 6-10 ปี มีหน่วยงานต้นสังกัดคือสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน ส่วนใหญ่ต้องการศึกษาต่อทันที ร้อยละ 54.43 ต้องการปริญญาที่สำเร็จเป็นการศึกษาดุษฎีบัณฑิต ร้อยละ 84.10 ต้องการแบบแผนการศึกษาที่มีการทำวิทยานิพนธ์และศึกษารายวิชาคิดเป็นร้อยละ 90.52 ต้องการรูปแบบการจัดช่วงเวลาการเรียนการสอนภาคพิเศษวันหยุดราชการ (เสาร์-อาทิตย์) ตั้งแต่ 08.30-17.30 น. ร้อยละ 88.38 และต้องการรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานโดยบรรยายและการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ ร้อยละ 51.38 ต้องการให้มหาวิทยาลัยจัดให้มีห้องทำงานนิสิตพร้อมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 86.07 2. ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยว่าหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มีความจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในระดับมาก และมีความสำคัญอยู่ในระดับมากเช่นกัน โดยเรียงลำดับความสำคัญจากค่าเฉลี่ยมากไปน้อย ดังนี้ ช่วยพัฒนาสังคม/ประเทศชาติ เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ช่วยพัฒนางานในองค์กร/หน่วยงาน และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง
References
กฤธยากาญจน์ โตพิทักษ์. (2557). ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. สงขลา: เหรียญทองการพิมพ์.
ธนาชัยวัฒน์ เดชาสินธ์เจริญ. (2553). การศึกษาความต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย.
บัณฑิต ฉัตรวิโรจน์, และสุมาลี วิทยรัตน์. (2549). การศึกษาสภาพและความต้องการในการเข้ารับการฝึกอบรมและศึกษาต่อสำหรับครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา. กำแพงเพชร: มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร.
บุญส่ง ไข่เกษ, และเลขา สมยืน. (2552). การศึกษาความต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของบุคลากรทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ. นครราชสีมา: สาขาสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยนครราชสีมา.
สุมิตร สุวรรณ, และจันทิมา จำนงนารถ. (2554). ความต้องการในการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาของคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันตก (รายงานผลการวิจัย). นครปฐม: คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.
Yamane, T. (1973). Statistic: an introductory analysis (3rd ed.). New York: Harper and Row.