การศึกษาการเรียบเรียงความคิดและการเชื่อมโยงความจากการเขียนเรียงความของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖

ผู้แต่ง

  • อาทิตยา ทองแสน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร 10900
  • ขนิษฐา ใจมโน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร 10900
  • พุทธชาติ โปธิบาล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร 10900

คำสำคัญ:

การเรียบเรียงความคิด, การเชื่อมโยงความ, เรียงความ

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการเรียบเรียงความคิดและการเชื่อมโยงความจากการเขียนเรียงความของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียนปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ผลการศึกษาลักษณะการเรียบเรียงความคิดและการเชื่อมโยงความจากการเขียนเรียงความของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียนปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พบว่าการเรียบเรียงความคิดและรูปแบบการเรียบเรียงความคิดนั้นส่งผลโดยตรงต่อการเขียนเรียงความเป็นอย่างมาก กล่าวคือ หากนักเรียนไม่มีการเรียบเรียงความคิดหรือเลือกรูปแบบของการเรียบเรียงความคิดที่ผิดรูปแบบต่อเนื้อหาก็จะทำให้การเขียนเรียงความมีเนื้อหาที่วกวนและส่งผลให้งานเขียนของนักเรียนไม่ดีเท่าที่ควร ในส่วนของการเชื่อมโยงความ พบว่าอัตราการใช้การเชื่อมด้วยศัพท์มีผลต่อการเขียนเรียงความ กล่าวคือ หากมีการใช้อัตราการเชื่อมด้วยศัพท์น้อยก็มีแนวโน้มว่าการเขียนเรียงความของนักเรียนจะถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี และหากนักเรียนมีการใช้อัตราการเชื่อมด้วยศัพท์ที่มากก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้ว่าการเขียนเรียงความของนักเรียนจะถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่า ลำดับถัดมาคือ อัตราการใช้การอ้างถึง หากมีการใช้มากหรือน้อยจนเกินไปก็อาจจะทำให้การเขียนเรียงความถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี ทั้งนี้ ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการเลือกใช้และหัวข้อที่ผู้เขียนต้องการเขียน ลำดับสุดท้าย คือ การใช้หน่วยที่เชื่อมโยงเนื้อหาในปริจเฉทเข้าด้วยกัน พบว่า การใช้หน่วยเชื่อมโยงดังกล่าวไม่สามารถแยกกลุ่มตัวอย่างให้แยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน เพราะกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงก็มีการใช้ปริจเฉทที่ไม่ครบเช่นเดียวกันกับกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้และเกณฑ์ดี เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาจะพบว่าตรงกับคำกล่าวของ เพียรศิริ วงศ์วิภานนท์ ที่กล่าวไว้ว่าการเชื่อมโยงความในปริจเฉทนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะกำหนดได้ล่วงหน้า (predictable) ด้วยขนาดหรือความยาวของปริจเฉทหรือแม้แต่ลักษณะของเนื้อหา นี่เป็นข้อยืนยันความเห็นของนักไวยากรณ์หน้าที่ได้เป็นอย่างดี

References

ดวงใจ ไทยอุบุญ. (๒๕๔๓). ทักษะการเขียนภาษาไทย. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นววรรณ พันธุเมธา. (๒๕๔๙). ไวยากรณ์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เพียรศิริ วงศ์วิภานนท์. (ม.ป.ป). การวิเคราะห์โครงสร้างความในภาษาไทยข้อเขียนประเภทแสดงความคิดเห็นในสาขามนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสนีย์ วิลาวรรณ. (๒๕๔๔). พัฒนาทักษะภาษา เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-12-04

ฉบับ

บท

บทความวิจัยหรือบทความวิทยานิพนธ์