ปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับการผลิตมะพร้าวน้ำหอมตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ของเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตมะพร้าว
น้ำหอม และศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับการผลิตมะพร้าวน้ำหอมตามสิ่งบ่งชี้ทาง
ภูมิศาสตร์ของเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากการ
สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่มีใบรับรอง GI และไม่มีใบรับรอง GI
จำนวน 250 ราย และนำไปคำนวณต้นทุนและผลตอบแทนสุทธิของเกษตรกรที่มีและไม่มี
ใบรับรอง GI และใช้แบบจำลองโลจิตเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการขอใบรับรอง GI ของกลุ่ม
ตัวอย่างเกษตรกร ผลการศึกษาพบว่าผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) และต้นทุนการผลิตมะพร้าว
น้ำหอมของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่มีใบรับรอง GI สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่ไม่มีใบรับรอง
GI โดยกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่มี GI มีผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 27,546.25 บาทต่อไร่ และมี
ต้นทุนรวม 23,043.26 บาทต่อไร่ (แบ่งเป็นต้นทุนผันแปร 19,689.98 และต้นทุนคงที่ 3,353.28
บาทต่อไร่) ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่ไม่มี GI มีผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 19,713.31 บาท
ต่อไร่ มีต้นทุนรวม 19,374.41 บาทต่อไร่ (แบ่งเป็นต้นทุนผันแปร 16,684.13 และต้นทุนคงที่
2,690.28 บาทต่อไร่ จากแบบจำลองโลจิตพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับการผลิตมะพร้าว
น้ำหอมตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของกลุ่มตัวอย่างเกษตรกร ประกอบด้วย จำนวนสมาชิกใน
ครัวเรือน ราคาขายมะพร้าวน้ำหอม ทัศนคติของเกษตรกรต่อใบรับรอง GI จำนวนครั้งที่
เกษตรกรติดต่อกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร โดยมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับความ
น่าจะเป็นในการตัดสินใจยอมรับการขอขึ้นทะเบียน GI อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
อายุ มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับความน่าจะเป็นในการตัดสินใจยอมรับการขอขึ้น
ทะเบียน GI อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.10 และจำนวนแรงงานในครัวเรือน มี
ความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับความน่าจะเป็นในการตัดสินใจยอมรับการขอขึ้นทะเบียน
GI อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.10
จากผลการศึกษาที่ได้มา ภาครัฐควรมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเห็นถึงความสำคัญของ
การมีใบรับรอง GI และควรมีมาตรการเพิ่มแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GI
ด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรในลักษณะของสหกรณ์/สถาบันเกษตรกร เพื่อเพิ่ม
อำนาจการต่อรองทางการผลิตและการค้าให้กับกลุ่มเกษตรกรที่มีใบรับรอง GI