บทบาทของสื่อทางสังคมในการสร้างการตื่นรู้ทางการเมือง ของนักเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

Main Article Content

อนุภูมิ โซวเกษม, วัชรินทร์ ชาญศิลป์

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาบทบาทของสื่อทางสังคมที่สร้างการตื่นรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา2) เพื่อศึกษาเครื่องมือที่สร้างการตื่นรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 3) เพื่อนำเสนอแนวทางการสร้างการตื่นรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการประยุกต์หลักสัปปุริสธรรม 7 เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methods) โดยเก็บรวมรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ (Quantitative Research)และเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 17 ท่าน เลือกแบบเจาะจง และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ สรุปผล และนำเสนอ
เขียนเป็นความเรียง
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า 1. บทบาทของสื่อทางสังคมที่สร้างการตื่นรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า สื่อทางสังคมเป็นบ่อเกิดของความรู้และทำให้นักเรียนมีช่องทางได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความคิดเห็น แบ่งปันข้อมูลข่าวสารและโอกาสทางเครือข่าย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับประชาชนได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ สื่อทางสังคมได้มีบทบาทสำคัญในสร้างการตื่นรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย สื่อทางสังคม Facebook สื่อทางสังคม Google และสื่อทางสังคม Twitter
2. เครื่องมือที่สร้างการตื่นรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย สื่อทางสังคม Facebook สื่อทางสังคม Google และสื่อทางสังคม Twitter สื่อสังคมในฐานะเครื่องมือในการสร้างการตื่นรู้ทางการเมือง พบว่า เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้บ่อยที่สุดในทางการเมือง วิธีการดังกล่าวได้เปลี่ยนฉากทางการเมืองไปอย่างสิ้นเชิง มีการใช้ในการหาเสียงทางการเมือง การประท้วง สร้างการรับรู้ทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมีส่วนสำคัญในการได้รับความรู้ทางการเมืองและแรงจูงใจในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองพร้อมทั้งให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลก
3. แนวทางการสร้างการตื่นรู้ทางการเมืองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นแนวทางการส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมเป็นการฝึกให้มีทักษะและพอโตขึ้นจะมีทักษะชีวิต มีการกระตุ้นให้นักเรียนได้กลายเป็นผู้มีทักษะในการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการกล่อมเกลาทางการเมืองโดยการประยุกต์หลักสัปปุริสธรรม 7 ได้แก่ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักกาล รู้จักประมาณ รู้จักชุมชน และรู้จักบุคคล ซึ่งมีแทรกอยู่แล้วในกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง ให้นักเรียนมีกิจกรรมทางการเมืองอย่างเสรีให้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองควรส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตยในห้องเรียนและสังคมและหลักพุทธธรรมที่เหมาะสมที่สุด ก็คือการประยุกต์หลักสัปปุริสธรรมไปใช้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้นักเรียนเกิดมีการตื่นรู้ในทางการเมืองได้อย่างเหมาะสม และเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้นำทางการเมืองในระดับต่างๆ ตลอดจนการมีทัศนคติที่ดีต่อการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมือง อันจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงของระบบการเมืองการปกครองของประเทศชาติสืบต่อไป

Article Details

บท
บทความวิชาการ